วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ช้างไทย


เพิงไม้ท่ามกลางขุนเขาแห่งป่าภาคเหนือของประเทศไทยเป็นที่อาศัยของสองชีวิตที่มีหัวใจแข็งแกร่งและผูกพันกันอย่างแนบแน่น ฝ่ายหนึ่งคือแสงเดือน ชัยเลิศ หญิงร่างบางวัย 40 เศษ ผู้มีน้ำหนักเพียง 39 กิโลกรัม และอีกฝ่ายหนึ่งคือพังโจเกีย นางช้างวัย 42 ปี หนัก 3 ตัน ขณะที่แสงเดือนทำอาหาร โจเกียจะยืนอยู่ใต้ถุนบ้าน ยื่นงวงยาวเหมือนงูหลามตัวอ้วนเลื้อยพาดฟากไม้ไผ่เพื่อรอรับเศษผักหรือผลไม้ ก่อนหน้านี้ โจเกียเคยชักลากไม้เถื่อนและถูกบังคับให้ทำงานทั้งๆที่กำลังท้อง มันลากซุงหนักๆขึ้นเขาสูงชันจนแท้งลูก หลังจากนั้นโจเกียเริ่มมีอาการดื้อด้านจนควาญต้องใช้หนังสติ๊กหรือ “อาวุธรีโมต” ยิงเพื่อให้มันลุกขึ้นทำงาน วันหนึ่งควาญของโจเกียยิงพลาดจนทำให้ตาซ้ายของมันบอด สุมให้นางช้างเกรี้ยวกราดยิ่งขึ้น แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเมื่อเจ้าของซึ่งออกโรงคุมช้างเชือกนี้ด้วยตนเองถูกงวงฟาดจนแขนหัก เขาก็แค้นใจยิงลูกดอกใส่ตาข้างดีที่เหลืออยู่ของโจเกีย ล่ามโซ่ตรวน และบังคับให้นางช้างลากไม้สักที่เพิ่งตัดโค่นทั้งที่ตามองไม่เห็น แสงเดือนเคยเข้าไปในปางไม้และเห็นโจเกียถูกตีเพราะเดินงุ่มง่ามไปชนต้นไม้ เมื่อทราบความเป็นมาของช้างพังเชือกนี้ เธอก็ตั้งใจจะหาเงินมาไถ่มันให้จงได้ แสงเดือนเป็นหลานปู่ของหมอยาสมุนไพร และเป็นเจ้าของบริษัทท่องเที่ยวในเชียงใหม่ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ชอบดูแลสัตว์ตกทุกข์ได้ยาก ตอนนี้ที่บ้านของเธอจึงมีสุนัขจรจัดและพิการกว่า 30 ตัว ไม่นับที่เธอคอยให้อาหารอีกกว่า 200 ตัว
พังโจเกียเป็นช้างหนึ่งใน 17 เชือกที่แสงเดือนช่วยไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งหมดใช้ชีวิตในพื้นที่ป่าสงวนซึ่งมีอาณาเขตราว 2,400 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางเหนือ 55 กิโลเมตร ที่ดินผืนนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเธอบางส่วน แต่บางส่วนก็เช่าจากรัฐบาล "พอลงมือทำแล้วก็หยุดไม่ได้ค่ะ" เธอเล่าขณะที่เราเดินอยู่กลางโขลงช้างทะมึนในศูนย์บริบาลช้าง อันเป็นผลงานชิ้นนี้ทำให้เธอติดอันดับต้นๆของนักสู้ผู้ต่อต้านการทารุณสัตว์
ถึงแม้ว่าช้างป่าทั่วโลกจะเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายไม่ต่างกันอันเป็นผลมาจากปัญหาพื้นที่ป่าที่ลดลง การลักลอบล่า และการปะทะกับเกษตรกร แต่สถานการณ์ของช้างในเอเชียกลับน่าเป็นห่วงกว่าในแอฟริกาหลายเท่า ปัจจุบันช้างเอเชียซึ่งเคยมีให้เห็นดาษดื่นจากแผ่นดินจีนจรดอิรักเหลือไม่ถึง 50,000 ตัว โดยในจำนวนนี้เป็นช้างบ้านเสีย 15,000 เชือก เชื่อกันว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เฉพาะแผ่นดินไทยมีช้างร่วม 100,000 ตัว ครึ่งหนึ่งถูกคล้องมาใช้งานในไร่นา ขนสินค้า หรือลากซุง เช่น ไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งมีค่าอื่นๆจากป่า
แต่ทุกวันนี้ไทยมีช้างบ้านราว 3,000 เชือก และมีช้างป่าจำนวนเท่าๆกัน สำหรับคนไทย ช้างคือสัญลักษณ์อันคุ้นตาที่เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งป้ายโฆษณา ฉลากเบียร์ ไปจนถึงเวียงวังอันวิจิตร ประวัติศาสตร์กล่าวถึงการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างกษัตริย์ไทยและพม่าเมือพุทธศักราช 2135 และเชิดชูบรรพชนที่ต่อสู้บนหลังช้างเพื่อรักษาเอกราชมาจนทุกวันนี้
อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น